ทำความรู้จักกับ Equalizer และ Frequency กันเถอะ
geq-graphic-equalizer-classic
สวัสดีฮะ พบกันอีกครัั้งนะครับ ซึ่งในวันนี้ผมขอเปลี่ยนแนวเล็กน้อย…..วันนี้งดรีวิวครับ…ขี้เกียจครับ….ไม่ช่ายยยย…พอดีว่ามีน้องๆสอบถามเกี่ยวกับเรื่องEQ ผมก้อเลยคิดว่าเปลี่ยนมาเขียนบทความเกี่ยวกับEQ บ้างดีกว่าจะได้ไม่เลี่ยนกับการรีวิว 555
เอาล่ะมาเข้าเรื่องกัน ในเบื้องต้นเรามารู้จักกับ EQ กันซักเล็กน้อย
EQ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่ามันคือ Emotional Quotient หรือความฉลาดทางอารมณ์แต่อย่างใดนะฮะ EQ ที่เราจะพูดถึงกันคือ Equalizer นั่นเอง ซึ่ง EQ เป็นเครื่องมือที่ให้เอาไว้เพิ่มหรือลดระดับเสียงในช่วงความถี่ที่ต้องการ โดยมีหน้าที่เอาไว้ปรับแต่งเสียงโดยตรง การทำงานของ EQ นั้นจะเป็นการปรับ/ลดความถี่ (frequency) ของเสียงนั้นๆ เอาง่ายๆมันก็คือการปรับทุ้มแหลมเหมือนอย่างที่หลายๆคนเข้าใจแหละครับ
แต่ศาสตร์ในการใช้ EQ นั้น มันไม่ได้มีไว้แค่ปรับทุ้มแหลมอย่างเดียว EQ ยังสามารถใช้สร้างมิติหรือเลเยอร์ของเสียงได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น เสียงร้อง เมื่อเรามีไลน์ร้องสองไลน์ ไลน์แรกเป็นร้องหลัก ไลน์ที่สองเป็นร้องประสาน ในจุดนี้เราสามารถสร้างมิติแยกเสียงสองไลน์นี้ออกจากกัน โดยการใช้ EQ และ Cut ไปที่ 7-8kHz. ผลลัพธ์ก็จะได้เสียงร้องหลักมาอยู่ด้านหน้า และเสียงร้องประสานจะหลบไปอยู่ด้านหลังของเสียงร้อง
และในการใช้ EQ นั้น นอกจากใช้เพื่อปรุงแต่งเสียงแล้ว เรายังสามารถใช้ EQ เพื่อแก้ปัญหาเสียงซ้อนความถี่กันได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่นเสียง Kick ของกลอง กับเสียงของเบส เมื่อเรา Solo ฟังทีละอย่าง มันก็จะฟังดูดีใช่มั้ยครับ แต่ทีนี้ลองฟังทั้งสองอย่างพร้อมๆกัน ก็อาจจะสูญเสียงบางอย่างไป เช่น ไม่ได้ยินย่าน Low ของ Kick นั่นเป็นเพราะ ย่าน Low ของเบสมีมากเกินไป แทนที่เราจะไปลด volume ของเบสลง เราก็จะเปลี่ยนมาใช้การแก้ไขด้วย EQ แทน ในจุดนี้ก็ให้ฟังดูว่าย่านไหนมันทับกัน หรือถ้ายังฟังแล้วยังแยกแยะเสียงไม่ออก ก็ดูจาก Spectrum Analyzer ได้เช่นกันครับ หลงจากนั้นก็ cut ย่านความถี่ที่ทับกันลงออกไปบ้างเล็กน้อย นี่ก็เป็นหลักการใช้งานของ EQ อย่างง่ายๆ ทีนี้เราไปดูกันในเรื่องของย่านความถี่กันบ้างดีกว่า
ย่านความถี่ (frequency) ในการทำงาน เพื่อให้เข้าใจง่ายๆและชัดเจนจะถูกแบ่งออกเป็นหลายช่วงความถี่ดังนี้ครับ
Deep Low (หรือบางคนเรียกว่า Deep Bass)
อยู่ในช่วง 20 – 60 Hz ควบคุมเสียงกระหึ่ม เสียงของการสั่นสะเทือน โดยส่วนใหญ่เสียงที่ย่านนี้ถูกผลิตออกมาจากลำโพงซับวูฟเฟอร์
Low
อยู่ในช่วง 60 – 250 Hz เป็นย่านความถี่ต่ำสุดของงานมิกซ์ เป็นความถี่ระดับพื้นฐาน (fundamental) ของกีตาร์เบส และ เครื่องดนตรีประเภทให้จังหวะ อย่างเช่น kick-drum ย่านความถี่นี้ควบคุมความเต็มแน่น ของเสียงนั้นๆหรือซวาวด์โดยรวมของsession
Mid-Low
อยู่ในช่วง 250 – 2000 Hz เป็นย่านความถี่เสียง harmonics แรกของเครื่องดนตรีส่วนใหญ่ การเพิ่มระดับเสียงในย่านความถี่ระหว่าง 250 – 800 Hz จะช่วยให้เครื่องดนตรีที่ผลิตเสียงความถี่ต่ำมีโทนเสียงที่ชัดเจนขึ้น แต่การปรับเพิ่มมากเกินไปก็จะทำให้ได้โทนเสียงคล้ายโทรศัพท์ เช่น การปรับเพิ่มในช่วง 500 Hz – 1 kHz ก็จะทำให้ได้โทนเสียงคล้าย Horn หรือ การปรับเพิ่มในช่วง 1 kHz – 2 kHz ก็จะได้โทนเสียงเล็ก เป็นต้น … สำหรับเครื่องดนตรีประเภทให้เสียงย่านความถี่กลาง (mid-range) เช่น กีตาร์, เสียงร้อง และ คีย์บอร์ด ก็นิยมที่จะลดย่านความถี่ในช่วงนี้ลง เพื่อจะทำให้งานมิกซ์โดยรวมดีขึ้น
Mid-High
อยู่ในช่วง 2000 Hz – 4000 Hz ย่านความถี่นี้สำคัญสำหรับ เสียงพูด หรือ เสียงร้อง และ จะเป็นตัวกำหนดความเด่น ความชัดเจน ของเครื่องดนตรีประเภท mid-range … การปรับเพิ่มระดับเสียงในย่านนี้มากเกินไป อาจจะทำให้หูล้าได้ เมื่อฟังไปนาน ๆ
Presence
อยู่ในช่วง 4000 Hz – 6000 Hz ควบคุมความระยะใกล้-ไกล และ ความชัดเจน ของเครื่องดนตรี และ เสียงร้อง … การปรับเพิ่มระดับเสียงในย่านนี้มากเกินไปจะทำให้ได้เสียงหยาบกระด้าง
High
อยู่ในช่วง 6000 Hz – 20 kHz ย่านนี้จะสัมพันธ์สอดคล้องกับ ความใส/ชัดเจน, เสียงฉ่า (sizzle) และ “air” ของงานมิกซ์
จากที่เห็นข้างต้นคือความถี่ที่แยกออกมาจากกันเพื่อทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของเสียงในแต่ละช่วงความถี่นะครับ ตรงนี้จะเป็นประโยชน์ในการปรับeqเป็นอย่างมาก
แล้วเราจะรู้ได้ยังงัยล่ะว่าตอนไหน สถาณะการณ์ไหนเราถึงจะใช้Eq คำตอบคือ ใช้เมื่อต้องการปั้นเสียงนั้นๆ หรือที่บางคนเรียกว่าการ”การทำโทน(เสียง)” การใช้Eqนั้นก้อเพื่อต้องการเปลี่ยนโทนเสียงเดิมๆนั้นให้ได้เป้นโทนเสียงอย่างที่เราต้องการนั่นเอง
เมื่อเราทราบเกี่ยวกับช่วงความถี่ของเสียงไปแล้วเราลองมาดูชนิดของEqกันนะครับ Eqจะแบ่งเป็นสองชนิดดังนี้ครับ
1. Graphic Equalizer
2. Parametric Equalizer
Graphic Equalizer
Graphic Equalizer วิธีการปรับจะแบ่งเป็นความถี่นั้นๆ ที่ต้องการส่วนใหญ่มีประมาณ 31 ความถี่ เช่น ถ้าเราต้องการความถี่ที่ 5oo Hz. จะปรับขึ้นหรือลงก็แล้วแต่ เราก็ cut หรือ boost ที่ปุ่ม 500 Hz. ได้เลยโดยที่ความถี่ข้างเคียงไม่ว่าจะเกิน 500 Hz. หรือต่ำกว่า 500 Hz. สัญญาณความถี่ที่ cut หรือ boost จะไม่เกี่ยวข้อง
Parametric Equalizer
Parametric Equalizer วิธีการปรับเหมือนกับ Graphic Equalizer เพียงแต่ความถี่ข้างเคียง เช่น ความถี่ 500 Hz. ในด้านความถี่สูงกว่า 500 Hz. หรือต่ำกว่า 500 Hz. จะขยับขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
ค่าพารามิเตอร์ของ Eq นั้นมีไม่เยอะหรอกครับ โดยส่วนมากก็จะมีให้ปรับแค่นี้…
1. Frequency คือ ความถี่ที่จะปรับแต่ง
2. Gain คือ ความดังของถวามถี่นั้นๆ
3. Q คือ ค่าที่ใช้กำหนดความกว้างของช่วงความถี่เสียง
Equalizer Filter
Filter ของ Eq จะมีอยู่หลายชนิดดังนี้
High Pass Filter (HPF)
มีหน้าที่ปล่อยผ่านความถี่สูงและลดความถี่ตํ่า โดยเรียกจุดที่ความดังค่อยๆลดลงเป็นเส้นโค้งว่า Roll-Off พบเห็นได้บ่อยที่สุดบน Mixer (ปุ่ม HPF) ซึ่งนิยมใช้ลดเสียงลมที่ไมโครโฟน ซึ่งในไมคโครโฟนคอนเดอนเวอร์บางรุ่นจะมีปุ่มนี้มาให้ใช้ด้วยฮะ
Low Pass Filter (LPF)
ทำหน้าที่ในทิศทางตรงกันข้าวกับ HPF นะฮะ คือปล่อยผ่านความถี่ตํ่าและลดความถี่สูง มีการอ่านค่าเหมือน HPF ทุกประการ
Band Pass Filter (BPF)
มีหน้าที่ปล่อยผ่านความถี่เสียงตามความถี่กลาง (Center Frequency) และระยะ Pass Band ที่กำหนดไว้ พบได้ใน Active/Passive Crossover
Band Stop Filter (Notch Filter)
มีหน้าที่ลดความถี่ใดๆ ด้วยค่า Bandwidth ที่แคบที่สุด (ค่า Q มาก) เอาไว้ใช้ในการที่ต้องเพิ่มหรือตัดความถี่นั้นๆโดยเฉพาะ
แต่ละ filter ก็จะเหมาะกับการใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป ก็ลองดูกันนะครับ ยกตัวอย่างเช่นเวลาที่เกิดเสียงฮัมหรือเสียงหอนเข้ามา ผมก็จะใช้ Notch Filter นี่แหละกวาดไล่หาความถี่ที่มีเสียงฮัมหรือเสียงหอน
หรือถ้าอยากจะลดเสียงลมที่ผ่านไมคเข้ามาก็จะใช้ HPF เข้ามาใช้งานตรงนี้ครับ
ในการใช้ EQ นั้น โดยส่วนตัวผมอยากแนะนำให้ใช้ในลักษณะลดมากกว่าเพิ่มนะครับ อยากให้ลดในความถี่ที่ไม่ต้องการออกไป แล้วเราก้อจะได้ความถี่ที่เราอยากได้ยินมาเองครับ เพราะการเพิ่มมากเกินไป อาจทำให้เกิดความถี่ไปทับกันกับเสียงหรือแทรคอื่น ผมมีหลักการง่ายๆอยู่หนึ่งอย่าง คือ หากต้องเพิ่มย่ายความถี่ไหนก็ช่าง ผมก็จะต้องไปลดความถี่เดียวกันที่แทรคอื่น เพื่อไม่ให้ความถี่ทับกันครับ
สำหรับผู้ที่ยังไม่ชำนาญในการฟังเสียงหรือแยะแยกความถี่ ก็แนะนำให้ใช้ Spectrum Analyzer เข้าช่วยดูประกอบไปด้วย ในยุค Computer Music แบบนี้ก็จะมี Plug-in ที่เป็น Spectrum Analyzer ออกมาเยอะแยะมากมาย มาให้เราเลือกใช้ครับ ยกตัวอย่างเช่น Paz Analyzer ของทางค่าย Waves ก้อใช้ตาดูหูฟังกันไปครับ
Equalizer เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ปรุงแต่งเท่านั้น เราก็ควรที่จะต้องคำนึงถึงต้นกำเนิดเสียงด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นเสียงกลอง หากเราจูนหนังกลองมาไม่ดี การใช้ Equalizer ก็ไม่ได้เป็นทางแก้ที่ถูกต้อง ควรไปแก้ไขที่ต้นทาง คือไปจูนหนังกลองใหม่และอัดมาใหม่ครับ
และที่สำคัญ ควรศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับความถี่ของเสียงในแต่ละเครื่องดนตรีไปด้วย จะทำให้เราเข้าใขในการใช้งาน EQ ได้ดีขึ้นครับ อ่ะ…ผมเอาตารางความถี่ของเครื่องดนตรีมาฝาก
http://www.independentrecording.net/irn/resources/freqchart/main_display.htm ถ้าดูจากตารางนี้ เราก็จะพบว่าเสียงเสียง Kick ของกลองนั้น จะมีอยู่ในย่านความถี่ที่เท่าไหร่ถึงเท่าไหร่บ้าง และลองหาดูเพิ่มเติมเรื่อง Fundamentals และ Harmonic Series ควบคู่ไปด้วย ก็จะทำให้เข้าใจเรื่องธรรมชาติของความถี่เพิ่มขึ้น แต่ถ้างงเดี๋ยวผมจะกลับมาเขียนเรื่องนี้อีกทีละกันครับ
ทั้งหมดนี้ก้อเป็นอะไรเล็กๆน้อยๆ เกี่ยวกับการใช้ Equalizer และ Frequency นะครับ ก้อหวังว่าน้องๆที่เป็นมือใหม่จะได้นำไปใช้ประโยชน์ไม่มากก้อน้อยครับ สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ
บทความโดย : MalE Pro Innovation